Clubhouse Competitors.
—
นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักแอปพลิเคชั่นยอดนิยมอย่าง “Clubhouse” แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียน้องใหม่ที่สร้างปรากฎการณ์ทำสถิติยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าในระยะเวลาเพียง 1 เดือน โดยในเดือนมกราคม Clubhouse มียอดดาวน์โหลดอยู่ที่ 3,000,000 ครั้ง และล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ ยอดดาวน์โหลดได้พุ่งทะยานไปถึง 10,000,000 ครั้งจากผู้ใช้งานทั่วโลก
.
โดยตัวแอปพลิเคชั่นจะเน้นไปที่การสื่อสารพูดคุยกันในรูปแบบเสียง ซึ่งจะแตกต่างไปจากพอดแคสท์และโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ตรงที่เราสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยน และแชร์ไอเดียกันได้แบบสด ๆ ผ่านฟีเจอร์หลากหลาย เช่น ยกมือ, ออกจากห้องเงียบ ๆ (Leave quietly) หรือ Ping เพื่อให้เพื่อนเข้ามาฟัง
.
ด้วยการเป็นแพลตฟอร์มที่มีความสดใหม่ และสามารถถาม-ตอบกันได้อย่างตรงไปตรงมานี้เอง ที่ทำให้ Clubhouse กลายเป็นหนึ่งในแอปพลิเคชั่นยอดนิยมในหมู่นักการตลาดหรือเจ้าของแบรนด์ที่ตั้งใจเข้ามาสร้างคอนเทนท์ หรือสร้าง Brand Awareness ให้กับทั้งคนทำธุรกิจด้วยกันเอง หรือแม้แต่กลุ่มคนทั่ว ๆ ไป ที่สามารถเข้ามารับฟังและแลกเปลี่ยนไอเดียได้
.
ที่น่าสนใจไปมากกว่ากระแสของ Clubhouse ที่กำลังมาแรงแบบหยุดไม่อยู่ ก็คือบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Facebook และ Twitter ที่พัฒนาฟีเจอร์ห้องแชทเสียงเพื่อเข้ามาเป็นคู่แข่งของแอปน้องใหม่ตัวนี้ ซึ่ง Twitter ได้ออกฟีเจอร์ที่ชื่อว่า “Spaces” (สเปซ) โดยมีหน้าตาและการใช้งานคล้ายคลึงกับ Clubhouse และผู้ใช้งานก็สามารถใช้ฟีเจอร์นี้ในตัวแอปได้เลยโดยที่ไม่ต้องโหลดใหม่ เพียงแค่คลิกที่ไอคอน Spaces บนแถบ Fleets ซึ่งเป็นฟีเจอร์สตอรี่ของ Twitter และสามารถกดเชิญ Speaker ได้สูงสุด 10 คน
.
โดยในห้องสนทนาจะมีการแบ่งลำดับขั้นการใช้งานเหมือน Clubhouse และยังสามารถปรับเปลี่ยนผู้พูด-ผู้ฟังได้อย่างอิสระ ที่สำคัญ Spaces ยังไม่มีการจำกัดจำนวนผู้ใช้งานในห้องสนทนาเหมือนกับ Clubhouse ที่ตอนนี้ยังจำกัดอยู่ที่ไม่เกิน 8,000 คน และยังใช้อีโมจิในระหว่างที่พูดหรือฟังอยู่ได้อีกด้วย
.
ในขณะที่ Facebook ก็ได้ออกฟังก์ชันใหม่ที่ชื่อว่า “Messenger Room” (เมสเซนเจอร์ รูม) ซึ่งเป็นห้องสนทนาวิดีโอแบบกลุ่ม แต่ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะใช้งานค่อนข้างยาก และผู้ใช้จำเป็นต้องโหลดแอป Messenger แยกขึ้นมาเพื่อใช้งานฟีเจอร์นี้ ซึ่งถึงแม้ว่าฟีเจอร์ของ Facebook ตัวนี้จะยังไม่เป็นที่สนใจเท่ากับแอปสนทนาอื่น ๆ แต่ก็ยังเป็นที่น่าจับตามองว่าทาง Facebook จะพัฒนาให้เป็นฟีเจอร์ที่สามารถดึงดูดผู้ใช้งานได้เหมือน Clubhouse หรือไม่
.
นอกจากสองแพลตฟอร์มที่กล่าวมานี้ ยังมี MiTalk แอปสัญชาติจีนของ Xiaomi ที่เพิ่งตัดสินใจชุบชีวิตขึ้นมาใหม่หลังจากที่ประกาศปิดตัวไปเพียง 1 สัปดาห์ในรูปแบบของแอปแชทเสียงมืออาชีพ ที่มีคำอธิบายแอปอย่างชัดเจนว่าจะสร้างมาเพื่อเป็นคู่แข่งของ Clubhouse โดยเฉพาะ ซึ่ง MiTalk จะเป็นแอปที่ให้รับฟังข้อมูลอย่างแบบเจาะลึกจากมืออาชีพในหลาย ๆ อุตสาหกรรม และยังสามารถใช้ฟีเจอร์ “ยกมือ” เพื่อขอพูดหรือมีส่วนร่วมในการสนทนาได้
.
โดยตอนนี้ MiTalk เปิดให้ลองใช้แค่เฉพาะพนักงาน Xiaomi เท่านั้น และด้วยเหตุผลที่ว่า Clubhouse โดนแบนในจีน ตัวแอปจะเปิดให้ผู้ใช้งานเข้าใช้ได้แบบจำกัดเฉพาะในประเทศจีนเท่านั้น ทั้งบนแพลตฟอร์ม IOS และ Andriod ให้โหลดใช้กันได้ทั่วประเทศ
.
การที่มีแอปสนทนาแบบสดผุดขึ้นมาเรื่อย ๆ ในโลกดิจิทัลยุคปัจจุบัน ทำให้เรารู้ว่าโซเชียลมีเดียเป็นได้มากกว่าสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารกัน เพราะแอปอย่าง Clubhouse ทำให้เราได้เข้าไปแลกเปลี่ยนไอเดียกับเจ้าของแบรนด์หรือธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่ในชีวิตประจำวันอาจไม่มีโอกาสได้เจอหรือพูดคุย
.
ยิ่งมีหลายบริษัทที่เริ่มพัฒนาฟีเจอร์มาแข่งกับ Clubhouse ทำให้ยิ่งเราติดตามเทรนด์เหล่านี้อยู่อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เราทั้งในฐานะเจ้าของแบรนด์ และบุคคลธรรมดาที่มีความสนใจในหัวข้อต่าง ๆ ได้พัฒนาทักษะการสื่อสารและรับฟังจากแอปเหล่านี้ได้มากขึ้น
สรุป
สิ่งที่ทำให้แอปสนทนาฟีเจอร์เสียงแตกต่างจากโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่น ๆ คือการที่เราได้เรียนรู้แก่นของการสนทนา โดยไม่มีสื่ออย่างรูปภาพหรือตัวอักษรเข้ามามีส่วนร่วม
.
ซึ่งข้อดีของการใช้งานแพลตฟอร์มเหล่านี้คือการได้เปิดโอกาสแลกเปลี่ยนไอเดียกับบุคคลระดับเจ้าของธุรกิจ และนักการตลาดเก่ง ๆ เพราะแอปเปิด กว้างให้เราได้เข้าไปอยู่ในบทสนทนาของกลุ่มคนที่หลากหลาย เราจึงควรหมั่นติดตามเทรนด์ฟีเจอร์ของแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการพัฒนาทักษะการสื่อสาร ได้เรียนรู้ insight ใหม่ ๆ และสร้างคอนเนคชั่นให้กับแบรนด์ของตัวเอง